หุ้นกลุ่มท่าเรือเวียดนาม น่าสนใจจริงหรือ?

Overview

 

หุ้นที่เกี่ยวกับท่าเรือและโลจิสติกนั้น ถ้ามองเผินๆ คนส่วนใหญ่จะคิดว่าน่าสนใจมาก เพราะเศรษฐกิจเวียดนามกำลังเติบโต บริษัทต่างชาติต่างๆ เช่น Samsung ได้แห่เข้ามาตั้งฐานผลิตที่เวียดนาม เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่จะทำให้คิดว่าบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวท่าเรือ น่าจะเป็นเสือนอนกิน เก็บค่าต๋ง มีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณงาน import-export ที่เพิ่มขึ้น

 

แต่ขอบอกว่า อาจต้องลองคิดดูใหม่

 

บริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือและโลจิสติกในเวียดนามนั้น มีมากกว่า 1,300 บริษัท เอาแค่ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็มีเป็น 10 บริษัทแล้ว อีกทั้งบริษัทที่เป็นสัญชาติเวียดนามนั้น มีส่วนแบ่งการตลาดเพียงแค่ 25% ของตลาดรวม เรียกได้ว่าอุตสาหกรรมนี้ถูกครองตลาดโดยบริษัทต่างชาติ

 

นอกจากนี้ยังมีท่าเรือใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นอีก ทำให้ในปัจจุบันโครงสร้างอุตสาหกรรม อยู่ในภาวะที่ supply มากกว่า demand  อีกทั้งอุตสาหกรรมที่เป็น commodities ทำให้คนซื้อหรือคนใช้บริการ มี bargaining power มากกว่า จึงเกิดการตัดราคากันของผู้ให้บริการอยู่ตลอดเวลา

 


 

ข้อจำกัดที่สำคัญ ของบริษัทท่าเรือและโลจิสติก โดยเฉพาะธุรกิจบริหารท่าเรือ (Seaport services) คือ การขยาย capacity

ถ้าบริษัทต้องการจะเติบโตไปเรื่อยๆ จำเป็นจะต้องขยาย capacity เพื่อรองรับปริมาตรสินค้าที่ผ่านเข้าออกท่าเรือ (Throughput, มีหน่วยเป็น TEUs) โดยการสร้างท่าเทียบเรือ (Berth) หรือท่าเรือ (port) เพิ่ม  ซึ่งใช้ทั้งเวลาและเงินลงทุนรวมทั้งต้องขออนุญาตจากรัฐบาล

 

ข้อมูลหรือข่าวสาร ที่ควรติดตามเป็นพิเศษ คือ

 

1. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกายภาพบางอย่าง เช่น การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำอันใหม่ที่ชื่อ Bach Dang ในปี 2017 ทำให้ท่าเรือที่อยู่ลึกเข้าไปด้านใน เช่น Hai An Port และ Green Port ได้รับผลเสียเต็มๆ เพราะสะพานที่สร้างมาใหม่นั้น ไปขวางทางเรือขนาดใหญ่ ไม่สามารถเข้าไปจอดเรือที่ในท่าที่อยู่ด้านหลังสะพานได้ จำนวนลูกค้าของท่าเรือดังกล่าวก็หายไปทันที

 

ผลกระทบ Bach Dang Bridge

 

2. โครงการก่อสร้างท่าเรือใหม่ๆ ที่จะมาเพิ่ม capacity ในระบบ เช่น โปรเจคท่าเรือน้ำลึกที่ชื่อ Lach Huyen ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ (Phase 1 มีแผนจะสร้างเสร็จพร้อมให้บริการในปี 2019) จะมาเติม supply ในระบบให้มากขึ้น อีกทั้งตัวท่าเรือเองก็อยู่ในทำเลที่ดีมากๆ ซึ่งจะทำให้กระทบกับท่าเรือที่มีอยู่เดิมอย่างแน่นอน

 


Logistics Value Chain

 

การเข้าใจห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรมนี้ จะทำให้เราเข้าใจภาพรวมและวิเคราะห์บริษัทต่างๆในอุตสาหกรรมนี้ได้ดีขึ้น เพราะบางบริษัทก็ให้บริการครบวงจร บางบริษัทก็ให้บริการเฉพาะบางอย่าง ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มห่วงโซ่หรือ Value Chain ได้ดังนี

 

  1. นายหน้า และบริษัทขนส่งที่ให้บริการนำสินค้ามาส่งที่ DC หรือ warehouse
  2. บริการสถานีพักสินค้า (ICD, warehouse), ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า (DC) ก่อนขึ้นท่าเรือ
  3. บริการท่าเรือ (Seaport services)
  4. บริการเดินเรือ (Vessels)

 


แบ่งกลุ่มท่าเรือตามตำแหน่งภูมิประเทศ

  1. ตอนเหนือ บริเวณเมืองไฮฟง (Hai Phong)
  2. ตอนใต้ คือเมือง โฮจิมินต์ (HCMC) และโซนเมืองอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้ๆ เช่น Binh Dong และ Dong Nai
  3. ตอนกลาง บริเวณ Da Nang

โดยที่ปริมาณขนส่งทางเรือ กว่า 70% จะเกิดขึ้นทางตอนใต้, 26% ทางตอนเหนือ และ 4% ทางตอนกลาง (ข้อมูลปี 2016)

 


 

ถ้าสนใจลงทุนในหุ้นท่าเรือจริงๆ เราควรจะเลือกลงทุนในบริษัท ที่มีท่าเรือที่อยู่ในโลเคชั่นที่ดี, มี capacity เหลือพอสมควร (breakeven point สำหรับท่าเรือ คือutilization ที่ 50% ขึ้นไป) เพื่อให้มีรูมในการเติบโต, บริษัทต้องมีการปรับตัวเก่ง เมื่อมีปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบ และนักลงทุนต้องเข้าลงทุนในจังหวะที่ PE ถูกๆ ถึงจะคุ้มความเสี่ยง