ACV – คือ AOT ตัวต่อไป?

Airports Corporation Of Vietnam (ACV)

 

ปีเตอร์ ลินช์ เคยบอกว่า ให้ระวังหุ้นที่ถูกตั้งชื่อว่าเป็นตัวต่อไปของหุ้นอีกหุ้นหนึ่ง เช่น  หุ้น xyz จะเป็น amazon ตัวต่อไป เราควรหลีกเลี่ยงหุ้น xyz, แล้ว ACV ที่หลายๆคนบอกว่าจะเป็น  AOT ตัวต่อไปหล่ะ?

 

ACV เป็นผู้บริหารสนามบินที่มีอยู่ทั้งหมดของเวียดนามแต่เพียงผู้เดียว จำนวน 22 สนามบิน ซึ่งต่างจาก AOT ของไทย ที่ถึงแม้จะผูกขาดเหมือนกัน แต่ก็บริหารเพียง 6 สนามบินเท่านั้น ไม่ได้บริหารทุกสนามบินของไทย

 

ถ้าดูเผินๆเราอาจคิดว่าเป็นข้อดีที่ ACV ผูกขาดสนามบินทั้งประเทศ แต่จริงๆแล้ว ในตอนนี้อาจเป็นข้อเสียมากกว่า เพราะในจำนวน 22 สนามบินนั้น มีอยู่หลายสนามบินที่เป็นสนามบินเล็กๆ ยังมีคนใช้บริการน้อย รายได้ไม่คุ้มรายจ่าย กลายเป็นตัวฉุดกำไรของ ACV เสียมากกว่า ต่างจาก AOT ที่ถึงแม้จะบริหารแค่ 6 สนามบิน แต่ก็มี traffic รวมกันมากกว่า 90% ของทั้งประเทศแล้ว

 

กระทรวงคมนาคมของเวียดนาม เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ACV อยู่ที่ 95.4% แต่มีแผนที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงมาเหลืออยู่ที่  75% ในปี 2018-2019

 

เวียดนามมี air penetration (จำนวนผู้โดยสารทางอากาศต่อจำนวนประชากรทั้งหมด) ต่ำที่สุดในอาเซียน แต่ใน 5 ปีที่ผ่านมา เวียดนามมีอัตราเติบโตของจำนวนผู้โดยสาร (passenger traffic) เพิ่มขึ้นสูงถึงเฉลี่ยปีละ 20% ทำให้ในปี 2016 ACV มีจำนวนผู้โดยสายถึง 81 ล้านคน (AOT มี 120 ล้านคน) ,เที่ยวบินภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของเที่ยวบินทั้งหมด

 

การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในประเทศเวียดนาม, การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการเดินทางด้วยเครื่องบินในเวียดนามเพิ่มขึ้น

 

สัดส่วนรายได้กว่า 80% ของ ACV มาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน (เช่น ค่าธรรมเนียมใช้สนามบิน) และ รายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (เช่น ค่าเช่าพื้นที่ร้านค้า, ค่าโฆษณา ฯลฯ) คิดเป็นเพียง 13% ของรายได้รวม ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดในภูมิภาค ถือเป็นข้อด้อยอย่างหนึ่งของ ACV เพราะโดยปกติแล้วอัตรากำไรขั้นจากพวกค่าเช่าร้านค้า จะสูงกว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน ( AOT มีสัดส่วนรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน สูงถึง 43%)

 


การเติบโต

ACVมีแผนขยายอาคารผู้โดยสาร ของสนามบินเดิม ทั้ง Tan Son Nhat ในโฮจิมินห์ และ Noi Bai ในฮานอย เพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสาร

 

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีแผนสร้างสนามบินใหม่ ขนาดใหญ่ ชื่อ Long Thanh International Airport ตั้งอยู่ที่จังหวัด Nong Bai (ห่างจากโฮจิมินห์ 40 กม.) โดยมีงบลงทุนถึง 486,000 ล้านบาท สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึงปีละ 100 ล้านคน ถ้าเทียบกับสนามบินสุวรรณภูมิเฟสแรก ที่ใช้งบไป 124,000 ล้านบาท รองรับผู้โดยรับสาร 45 ล้านคนต่อปีแล้ว ถือว่างบการก่อสร้างค่อนข้างแพง

 

แต่ ณ ปัจจุบัน ปี 2018 ทางรัฐบาลยังไม่สามารถหาแหล่งเงินทุน ที่เพียงพอในการทำโปรเจคนี้เลย ทำให้การสร้างสนามบินแห่งใหม่น่าจะต้องดีเลย์ออกไป

 

Valuation

ปี 2017 ACV มีรายได้ 13,830 พันล้านดอง (หรือ 21,090 ล้านบาท)  //  AOT = 54,900 ล้านบาท

ACV มีกำไร 4,100 พันล้านดอง (หรือ 5,800 ล้านบาท)  //  AOT = 20,680 ล้านบาท

ACV มีกำไรสุทธิ 29.6%  //  AOT = 36%

ACV มี market cap ประมาณ 200,000 พันล้านดอง (หรือ 278,000 ล้านบาท)  // AOT = 1ล้าน ล้านบาท

 

หรือ เทียบแบบง่ายๆ จะได้ว่า

ACV มีรายได้ คิดเป็น 38% ของ AOT

ACV มีกำไร คิดเป็น 28% ของ AOT

ACV มี market cap คิดเป็น  28% ของ AOT

ทั้ง ACV และ AOT มี PE ที่ประมาณ 45 เท่า

 

จะเห็นว่า ACV ไม่ได้มีราคาถูกไปกว่า AOT เลย (แพงเท่ากัน) ซึ่งสาเหตุน่าจะเป็นเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ได้ยึด AOT เป็นบรรทัดฐานในการให้ valuation ของ ACV แล้วก็เป็นได้

 

ดังนั้นนักลงทุนไทย ที่คิดว่าตัวเองได้ตกรถไฟจาก AOT และจะขึ้นไปขึ้นขบวน ACV แล้วละก็ ต้องบอกว่า ตั๋วมีราคาแพงเท่ากันครับ ยกเว้นจะคิดว่า ในอนาคต ACV จะสามารถเติบโตในอัตราที่มากกว่า AOT (นั่นคือ เชื่อว่า ACV จะมี growth สูงกว่า), สามารถเพิ่มรายได้ในส่วนธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบินได้มากขึ้น (margin ดีขึ้น) และโปรเจคสนามบิน Long Thanh International Airport จะประสบความสำเร็จ ก็น่าลองเสี่ยงกับ ACV ดูครับ